ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ ต.แม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายวิรัตน์ เจนจบ ผู้อำนวยการโครงการ สำนักงานชลประทานที่ 2 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมด้วย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายรัติพงศ์ เทพสุภา นายก อบต.แม่กรณ์ นายเกษม กุลดี นายกเทศมนตรีตำบลสันทราย และตัวแทนนายกเทศมนตรีตำบลป่าอ้อดอนชัย รวมไปถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ นำชาวบ้านจาก 4 องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรับฟังปัญหาการเกิดภัยแล้งจากชาวบ้าน และแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ของทางภาครัฐ โดยเป็นการประชุมหารือแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ต.แม่กรณ์
ทั้งนี้ในที่ประชุม ทางชลประทานเชียงราย ได้นำเรื่องโครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาแจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบว่า ทางชลประทานเชียงราย ได้นำปัญหาจากชาวบ้านที่มีการแจ้งผ่าน อปท. ในพื้นที่ มาวางแผนแก้ไขปัญหา และรับทราบปัญหา ซึ่งชาวบ้านแจ้งว่าในพื้นที่ ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และพื้นที่บริเวณโดยรอบ เกิดสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงมาหลายปี และยังไม่มีการแก้ไขปัญหาให้เห็นชัดแต่อย่างใด ซึ่งทางชลประทานเชียงราย ได้วางแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สาด ที่บ้านแม่สาด หมู่ที่ 4 ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย ว่าจากการสำรวจในเบื้องต้นสามารถที่จะทำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ได้ ครั้งนี้จึงเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่จะมาขอมติจากชาวบ้านอย่างเป็นทางการว่าจะให้มีการสร้างในรูปแบบใด โดยในที่ประชุม ชาวบ้านทุกคนยกมือสนับสนุนให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีความจุขนาด 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางชลประทานจะนำข้อมูลนี้ไปดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน
นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการรับฟังชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่กรณ์ และชาวบ้านจากพื้นที่ของ อปท. โดยรอบแล้ว ถือว่าประสบปัญหาภัยแล้งมานานมาก แต่โครงการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า ในจุดนี้ก็จะรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปผลักดันแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพราะการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง คือหนึ่งในภาระกิจเร่งด่วนของทางรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งนี้หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว และในพื้นที่ ตำบลแม่กรณ์ ก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก ชาวบ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาตามจากแหล่งท่องเที่ยว
“ที่ผ่านมาสมัยที่ตนเคยเป็น นายก อบจ.เชียงราย ก็เคยทำเรื่องแบบนี้ที่อำเภอแม่จัน โดยมีการรับเรื่องจากชาวบ้าน เพื่อผลักดันให้เกิดแหล่งน้ำเพื่อชาวบ้าน แต่ผลสุดท้ายถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าทำไม่ถูกต้อง จนในที่สุดชาวบ้านหลายพันคน ก็มารวมตัวกัน เพื่อให้กำลังใจ ว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อชาวบ้าน ดังนั้นในครั้งนี้ก็เช่นกัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด หากจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องทำ” นางรัตนา กล่าว
ด้าน นายวิรัตน์ เจนจบ ผู้อำนวยการโครงการ สำนักงานชลประทานที่ 2 กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำดังกล่าว ที่ชาวบ้านได้ลงมติเห็นพ้องกันคือ อยากได้อ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางชลประทานก็จะเร่งศึกษา และออกแบบให้เร็วที่สุด เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดการณ์ว่า ขนาดความสูงของอ่างเก็บน้ำแนวสันอ่างจะสูงประมาณ 26 เมตร และเชื่อว่าจุดดังกล่าวที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ จะมีน้ำเติมเข้ามาจากแหล่งน้ำธรรมชาติตลอดทั้งปี ทั้งน้ำตกขุนกรณ์ และ ลำห้วยแม่สาด ซึ่งเมื่อมีอ่างเก็บน้ำ น้ำจากอ่างก็จะซึมลงไปในชั้นน้ำใต้ดิน ทำให้บ่อน้ำและน้ำบาดาล มีปริมาณน้ำที่มากขึ้น การออกแบบจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ก็จะมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อศึกษาผลกระทบจากธรรมชาติ เพราะหน้าอ่างจะมีน้ำไหลออกมากินพื้นที่มากกว่า 10 ไร่ จึงต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย
ทางด้าน นายศิลปพงศ์ รีรักษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองหม้อ หมู่ 9 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ตามที่ทุกฝ่ายได้มาประชุมกันครั้งนี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างมาก เพราะชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างยาวนานมาก ทั้งที่เห็นว่าในพื้นที่มีแหล่งน้ำตลอดทั้งปี ก็ควรนำมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านว่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 จึงอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เชื่อว่าการที่ช่วยกันพลักดันเพื่อแก้ไขปัญหานี้จะประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพราะชาวบ้านรอความหวังจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งถ้าทำได้ จะทำให้ชาวบ้านจาก 4 อปท. รวมทั้ง พื้นที่การเกษตรเกือบ 4,000 ไร่ ก็มีน้ำทำการเกษตรได้และชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้นที่สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี
ทั้งนี้ทางด้าน นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า ชาวเทศบาลนครเชียงราย มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำนี้ขึ้นมา เพราะปัจจุบันเรามีแหล่งน้ำที่นำมาใช้เพียงแหล่งเดียวคือแม่น้ำกก หากวันใดวันหนึ่งน้ำกก เกิดแห้งแล้ง หรืออื่นใด ก็ยังมีแหล่งน้ำนี้สำรองใช้ได้ ซึ่งการวางแผนนั้นต้องวางระยะยาวเพื่อลูกหลานของเราทุกคนด้วย อาจต้องวางยาวไปกว่า 30 ปี แต่ก็ต้องทำ ทั้งนี้เรื่องที่มีการประชุมกันครั้งนี้ ก็จะนำเรื่องทั้งหมดได้ไปพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้โครงการไม่หยุดชะงัก.