นครเชียงรายสร้างแลนด์มาร์คป่ากลางเมืองแหล่งเรียนรู้ยูเนสโก้

Loading

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย นายสมศักดิ์ เวียงโอสถ ประธานสภาเทศบาลนครเชียงราย นายสนอง บุญเรือง ประธานโครงการคีรีชัยยามะ และ ดร.สุรชัย อำนวยพรเลิศ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ร่วมกับประชาชนชุมชนดอยสะเก็น เขตเทศบาลนครเชียงราย ได้จัดประชุมเพื่อเสนอแนวคิดพัฒนาป่าดอยสะเก็นหรือ “คีรีชัยยามะ” ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 62 ไร่สภาพเป็นป่าชุมชนตั้งอยู่ในเขตเมืองเชียงราย โดยภายในมีพระธาตุคีรีชัยและป่าที่ยังสมบูรณ์ ทำให้เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับชาวบ้านต้องการที่จะอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งธรรมชาติและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวกลางเมืองเชียงราย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ตามที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก้ได้ยกให้เทศบาลนครเชียงรายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อีกด้วย เบื้องต้นที่ประชุมหารือในการสร้างเส้นทางไปยังพระธาตุคีรีชัยให้สะดวกและสร้างสะพานไปตามป่าโดยยังคงอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งธรรมชาติเดิม เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิดด้วย

น.ส.วรรณพัชร จินดาขัด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน เทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่าการพัฒนาดังกล่าวเกิดจากการเริ่มของทางชุมชนดอยสะเก็นที่มีการปลูกข้าว พืชผัก อนุรักษ์ต้นไม้ ฯลฯ ทำให้ทางเทศบาลนครเชียงรายร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้เข้าไปส่งเสริมและมีการนำเอาดินและพืชผักในชุมชนไปตรวจไม่พบสารเคมีตกค้างกระทั่งกลายเป็นโครงการนำร่องด้านเกษตรปลอดสารอาหารปลอดภัย ต่อมาก็จึงมีแนวคิดจะร่วมกันพัฒนาให้เป็นป่าชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวด้วยดังกล่าว

นายเพ็ชร บุญศรี ประธานชุมชนดอยสะเก็น กล่าวว่าปัจจุบันชาวชุมชนดอยสะเก็นต่างเห็นด้วยอย่างยิ่งในการพัฒนาดอยสะเก็นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เพราะจะช่วยส่งเสริมเรื่องอาชีพให้กับประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพราะเมื่อธรมชาติก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนก็จะทำให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ต่อไป

ด้าน ดร.สุรชัย กล่าวว่าการพัฒนาเบื้องต้นนั้นทราบว่าจะมีการพัฒนาป่าดอยสะเก็นโดยไม่ทำร้ายป่าแต่กลับจะทำให้สภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น และการพัฒนาก็ให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ทั้งสะพานและอาคารสถานที่โดยมีชาวชุมชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งในอนาคตก็จะเป็นบทพิสูจน์ในการพัฒนาธรรมชาติกลางเมืองเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวได้ในเร็วๆ นี้ต่อไป.